Thairentcenter.com ศูนย์บริการบ้านเช่า

บทความ

ข้อแนะนำการเช่าบ้าน หาบ้านเช่า และข้อสัญญาเกี่ยวกับการเช่า

06-05-2563 10:54:50น.

ข้อแนะนำการเช่าบ้าน หาบ้านเช่า และข้อสัญญาเกี่ยวกับการเช่า

การเช่าที่อยู่อาศัย

1. ควรเลือกทำเล ระดับราคา และประเภทที่อยู่ให้เหมาะสมกับความต้องการของคุณมากที่สุด
2. ไม่ควรตัดสินใจขอเช่าที่อยู่อาศัยโดยทันที แต่ควรหาข้อมูลของที่อยู่ในบริเวณที่ใกล้กันหลายๆ แห่ง เพื่อเปรียบเทียบราคา และเงื่อนไขต่างๆก่อนตัดสินใจเช่า
3. เลือกบ้านที่ต้องการมากที่สุดสัก 2-3 แห่ง แล้วนัดเจ้าของบ้าน เพื่อขอชมบ้านจริง ซึ่งคุณควรสำรวจความเรียบร้อย ทั้งภายใน เช่น ท่อน้ำ ประตู หน้าต่าง ระบบไฟฟ้า กุญแจบ้าน และสภาพแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง เช่น เสียงรบกวนจากเพื่อนบ้าน การคมนาคม ความปลอดภัยหลังการเข้าอยู่ หากมีสิ่งใดชำรุด ควรแจ้งให้เจ้าของทราบ และซ่อมบำรุง ก่อนตกลงเช่าจริง
4. ต้องตกลงราคา และเงื่อนไขการเข้าอยู่กับผู้ให้เช่า ก่อนเข้าอยู่อาศัย เช่น ค่าประกันทรัพย์สิน ค่าเช่าล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง

 

การให้เช่าที่อยู่อาศัย

1. การตั้งราคา ควรสำรวจราคาที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือราคาตลาด ก่อนเสนอราคาแก่ผู้ขอเช่า แล้วเสนอราคาที่สมเหตุสมผล
2. ทำความสะอาด หรือตบแต่ง ทั้งบริเวณด้านนอก และในสถานที่พักให้พร้อมเยี่ยมชมเสมอ และเพื่อความปลอดภัยของท่านไม่ควร อยู่ตามลำพัง หรือเก็บของมีค่าไว้กับตน
3. เมื่อผู้เช่าตกลงเข้าพักอาศัย ควรขอสำเนาบัตรประชาชน หรือหลักฐานแสดงตัวบุคคลนั้นๆ ด้วย เพื่อตรวจสอบว่า ผู้เช่ามีตัวตนอยู่จริง และทำสัญญา (อาจเขียนขึ้นเองก็ได้) เกี่ยวกับเงินประกันค่าความเสียหาย ค่าเช่าล่วงหน้า

 

การงานใช้เว็บไซต์ ThaiRENTcenter.com

การค้นหาข้อมูล หรือบริการในเว็บไซต์นี้ ผู้ใช้บริการไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และถือเป็นความสมัครใจของผู้ใช้บริการ ที่ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้

• ห้าม ส่งภาพ ข้อความ หรือเนื้อหาใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ผิดต่อศีลธรรม คุกคาม หมิ่นประมาท หยาบคาย อนาจาร เหยียดผิว เชื้อชาติ หรือศาสนา หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
• ห้าม แสดงตัวหรือปลอมแปลงเป็นผู้อื่น หรือแสดงความเกี่ยวข้องกับผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง
• ห้าม เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขข้อมูล เพื่อที่จะหลบเลี่ยง หรือหลอกลวง เกี่ยวกับข้อความ หรือเนื้อหาที่ส่งผ่านบริการของ ThaiRENTcenter.com
• ห้าม ส่งภาพ หรือส่งข้อความหรือเนื้อหาใดๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายทางการค้า ความลับทางการค้าของผู้ใด
• ห้าม ส่งภาพ หรือส่งข้อความหรือเนื้อหาใดๆ ที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดคอมพิวเตอร์ ไฟล์หรือ โปรแกรม อื่นๆ ที่ถูกออกแบบไว้ เพื่อทำลาย ทำให้การทำงานของเซิร์ฟเวอร์ เนตเวิร์กคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟแวร์หยุดชะงัก หรือจำกัดความสามารถในการทำงาน
• ห้าม เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้รายอื่นๆ ด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม
• ห้าม สนับสนุนส่งเสริม หรือมีข้อความบอกวิธีการเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดกฎหมายใดๆ

 

ลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์

เป็นสัญญา ซึ่งตกลงกันระหว่าง “ผู้ให้เช่า” และ “ผู้เช่า” ได้ใช้ หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ในชั่วระยะเวลาที่กำหนด ผู้เช่า ตกลงจะให้ค่าเช่า เพื่อตอบแทนประโยชน์นั้นๆ ซึ่งสัญญานี้ มีลักษณะว่า คู่สัญญาต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน หมายถึง ผู้เช่า มีสิทธิที่จะได้ใช้ หรือได้รับประโยชน์ใดๆ จากทรัพย์สินที่เช่า แต่ผู้เช่าไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าแต่อย่างใด และผู้เช่าต้องให้ค่าเช่า เพื่อตอบแทนการใช้ทรัพย์สินนั้นๆ ( โดยปกติจะเป็นเงินแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินตราเสมอไปเพราะ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้แต่อย่างใดอาจเป็นอาหาร ยา ฯลฯ ) เช่น กรณีเช่าบ้าน ผู้เช่ามีสิทธิเพียงครอบครองอยู่อาศัยในบ้านเช่านั้น แม้จะอยู่มานานเท่าใดผู้เช่าก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ แต่ผู้เช่าให้เงินเป็นจำนวน 5,000 บาท / เดือนตอบแทนของการเช่าบ้าน

 

หลักเกณฑ์ในการทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์

การที่ผู้เช่า และผู้ให้เช่า มีเจตนาตกลงกัน ก็ถือว่าเกิดสัญญาเช่าทรัพย์แล้ว แต่สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มิฉะนั้นจะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีในศาลไม่ได้ ตัวอย่างของหลักฐานเป็นหนังสือในกรณีสัญญาเช่า เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าเช่า เป็นต้น
สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การเช่าแบบระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ต้องทำป็นหนังสือสัญญาเช่า โดยมีการลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนอีกประเภท คือ ระยะเวลาเช่าที่เกินกว่า 3 ปี ไม่ว่าจะเช่าตลอดอายุของผู้เช่า หรือผู้ให้เช่านั้น กฎหมายได้กำหนดลักษณะของ “หลักฐานเป็นหนังสือ” ไว้ค่อนข้างยุ่งยากกว่า แบบประเภทไม่เกิน 3 ปี เพราะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้

มีสัญญาพิเศษฉบับหนึ่ง ภาษาทางกฎหมายเขาเรียกว่า “สัญญาต่างตอบแทนพิเศษ” ซึ่งเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สัญญาที่มีข้อตกลงพิเศษเพิ่มเติม ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า นอกเหนือไปจากค่าเช่าที่ต้องจ่าย เช่น สัญญาที่ผู้เช่าต้องซ่อมแซมต่อเติม เมื่อบ้านชำรุด ผู้เช่าต้องปลูก และดูแลต้นไม้ในที่ดินนั้นๆ

 

หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า

ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่าตามสัญญา โดยทรัพย์สินนั้นๆ ต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ ตามสัญญาเช่าด้วย ตลอดระยะเวลาการเช่า เช่น เจ้าของบ้านเช่าต้องดูแล บำรุง รักษา และซ่อมแซมทรัพย์สินที่ให้เช่า ยกเว้นการซ่อมที่มีกฎหมาย หรือประเพณีกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้ซ่อมเองได้แก่ การซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ อย่างมุ้งลวดประตู หน้าต่างฉีกขาด กระเบื้องปูพื้นแตก 2-3 แผ่น

 

หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เช่า

ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าให้แก่เจ้าของที่อยู่นั้นๆ เพราะถือว่าเป็นลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนจากประโยชน์ที่ได้รับจากการเช่า ซึ่งจะมีการตกลงเวลาการชำระหนี้ไว้ในแต่ละคราว โดยปกติมักจ่ายเป็นรายเดือน นอกจากนี้ผู้เช่าต้องรักษาสภาพของที่อยู่ให้เรียบร้อย ตามสภาพที่ได้รับมอบมา และต้องส่งคืนในสภาพเดิม หรือซ่อมแซมให้เรียบร้อยหากชำรุด

 

การระงับสัญญาเช่า

การระงับสัญญานี้ อาจมีสาเหตุมาจากผลทางกฎหมาย เช่น เมื่อหมดสัญญาเช่า ผู้เช่าถึงแก่ชีวิต หรือทรัพย์สินนั้นสูญหายไป เช่น ไฟไหม้ กฎหมายได้อนุญาต ผู้ให้เช่าหรือผู้เช่า สามารถระงับการเช่าได ้โดยมิต้องบอกกล่าว
อีกกรณีของการระงับสัญญาเช่า อาจเนื่องมาจาก การบอกเลิกสัญญาระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า ตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาเช่าระบุให้สิทธิบอกเลิก หรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ปฏิบัติผิดหน้าที่ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า ในข้อสำคัญ เช่น ไม่ชำระค่าเช่า หรือถ้าสัญญาเช่าเป็นแบบไม่กำหนดระยะเวลาการเช่า แต่ละฝ่ายสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่ต้องบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวก่อน สักระยะหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องบอกก่อนล่วงหน้าเกินกว่าสองเดือน


ติดต่อสอบถาม

หากท่านมีปัญหาในการใช้งานเว็บไซต์ ต้องการแนะนำสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับสินค้า และบริการ หรือต้องการติดต่อ ศูนย์บริการบ้านเช่า ThaiRENTcenter.com ท่านสามารถส่งข้อมูลของท่านมาหาเราได้ที่ [email protected] หรือโทร.02-9931300